มีเงินเดือนเท่านี้ กู้บ้านได้เท่าไหร่ ?
หลักเกณฑ์การพิจารณาให้สินเชื่อของธนาคารหลักๆจะพิจารณาหลักทรัพย์ค้ำประกัน
และความสามารถในการชำระหนี้
โดยวงเงินให้กู้ส่วนใหญ่จะอยู่ที่70-95%ของราคาประเมินหลักทรัพย์ของธนาคารหรือราคาซื้อขาย
แล้วแต่ราคาไหน จะต่ำกว่า
ส่วนความสามารถในการชำระหนี้นั้นจะดูรายได้และภาระหนี้ซึ่งปกติจะให้วงเงินกู้ 30-50
เท่าของรายได้สุทธิ ขึ้นอยู่กับฐานรายได้และอาชีพของผู้กู้ด้วย ดังนั้น
ถ้าเรามีหนี้ต้องผ่อนอยู่ก่อนแล้ว โอกาสที่ได้วงเงินกู้ก็น้อยลงด้วย
นั่นเป็นเพราะธนาคารกำหนดให้ภาระหนี้รวมทุกประเภทของผู้กู้ไม่ควรเกิน 1 ใน 3
ของรายได้ในแต่ละเดือนหรือเต็มที่ไม่เกิน 40% นั่นเอง
รายได้เท่านี้...กู้ซื้อบ้านได้เท่าไหร่
ผ่อนบ้านอยู่จะกู้ซื้อคอนโดได้ไหม?
ถึงจะผ่อนบ้านอยู่ก็ยังสามารถกู้ซื้อคอนโดฯหรืออสังหาฯอย่างอื่นได้
ถ้ามีรายได้เพียงพอหรือสามารถผ่อนไหว
อย่างไรก็ตามเนื่องจากการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์มาตรการ
LTV ของแบงก์ชาติ (อัตราส่วนเงินให้สินเชื่อต่อมูลค่าหลักประกัน)
ซึ่งกำหนดให้ผู้กู้ต้องวางเงินดาวน์ตามสัดส่วนของสัญญากู้ที่ยัง ผ่อนชำระอยู่
ดังนั้นนอกจากต้องดูว่าเรามีรายได้เพียงพอสำหรับการผ่อนหรือไม่แล้วยังต้องเตรียมเงินดาวน์สำหรับ
การซื้อและกู้หลังต่อๆไปด้วย
รีไฟแนนซ์บ้าน ต้องทำยังไง ?
การรีไฟแนนซ์บ้านไม่ยากค่ะ ขั้นตอนเกือบทั้งหมดเหมือนการกู้ซื้อบ้านใหม่
เริ่มด้วยการแจ้งธนาคารเดิมว่า จะรีไฟแนนซ์
เพื่อให้ทราบถึงยอดหนี้ที่ยังค้างอยู่ทั้งหมด
พร้อมกันนี้ก็ไปยื่นขอสินเชื่อรีไฟแนนซ์กับธนาคารใหม่
และยื่นเอกสารกู้เหมือนกับการกู้ซื้อบ้านใหม่
แต่ที่เพิ่มเติมคือใบเสร็จหรือหลักฐานการผ่อนชำระย้อนหลัง (กับธนาคารเดิม)
หลังผ่านการอนุมัติเงินกู้ก็จะเป็นการทำสัญญากู้กับธนาคารใหม่และจดจำนองที่สำนักงานที่ดิน
ทั้งนี้ เงื่อนไขสำคัญของการรีไฟแนนซ์คือประวัติชำระหนี้ต้องไม่ค้างหรือชำระหนี้ล่าช้า
ไม่งั้นอาจไม่ผ่านการอนุมัติจากธนาคารใหม่ค่ะ
ถ้าจะกู้ซื้อบ้านต้องเตรียมเอกสารอะไรบ้าง ?
เอกสารประกอบการกู้ซื้อบ้านแบ่งได้ 3 กลุ่มหลักได้แก่ เอกสารประจำตัว เช่น
สำเนาทะเบียนบ้าน บัตรประจำตัวประชาชน ทะเบียนสมรส สำเนาการเปลี่ยนชื่อสกุล
เอกสารรายได้ เช่น ใบรับรองเงินเดือน /
สำเนาทะเบียนการค้าหรือหนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติ บุคคล,หลักฐานการเสียภาษี /
สัญญาจ้างฯลฯ แล้วแต่ว่าผู้กู้มีแหล่งที่มาของรายได้จากไหน และเอกสารหลักทรัพย์ เช่น
สัญญาจะซื้อจะขาย,สำเนาโฉนดฯลฯ
นอกจากนี้ในกรณีที่เคยมีประวัติค้างชำระหนี้ในเครดิตบูโรอาจต้องเตรียมหลักฐานที่แสดงว่าได้ปิดบัญชีเรียบร้อยแล้ว
ด้วยค่ะ
ติดแบล็คลิสต์ กู้ซื้อบ้านได้ไหม ?
คำถามนี้ขอแยกเป็น 2 กรณีค่ะ
กรณีที่ยังติดหนี้หรือค้างชำระหนี้หรือที่เรียกว่าติดแบล็คลิสต์แบบนี้กู้ซื้อบ้านไม่ได้เพราะธนาคารจะไม่พิจารณาคำขอสินเชื่อค่ะ
ส่วนกรณี(เคย)ติดแบล็คลิตสต์แต่ปัจจุบันเคลียร์หนี้ค้างหมดแล้วหรือชำระหนี้เป็นปกติแล้วแบบนี้สามารถยื่นกู้ได้
แต่การพิจารณาอนุมัติขึ้นอยู่กับนโยบายของแต่ละธนาคาร เช่น
ต้องชำระหนี้ให้เป็นปกติอย่างน้อย 6 เดือน หรือ 1 ปี เป็นต้น
ดังนั้นหากติดแบล็คลิสต์และต้องการกู้ซื้อบ้านแบบนี้เราจะต้องรีบเคลียร์หนี้ที่ค้างชำระและสร้างวินัยทางการเงินเพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือให้กับตัวเอง
ซึ่งจะเป็นการเพิ่มโอกาสในการกู้ค่ะ
กู้ไม่ผ่าน ต้องทำยังไง ?
กู้ไม่ผ่านแม้จะเป็นปัญหาน่ากังวลแต่ไม่ต้องร้อนใจมากไปนะคะ
โดยเฉพาะหากเป็นกรณีกู้ไม่ผ่านเพราะมีหนี้เยอะ
หรือกู้ได้ไม่เต็มวงเงินแบบนี้พอมีทางแก้ไขค่ะ
1.ขอเลื่อนเวลารับโอนบ้านกับโครงการวิธีนี้สามารถทำได้แต่คงไม่นานมาก
การยืดเวลารับโอนสัก 3-6 เดือนเป็น เรื่องปกติวิสัยที่ยังพอคุยกับโครงการได้
2.ยื่นกู้กับธนาคารอื่นๆเพิ่มเติม
วิธีอาจไม่ช่วยอะไรหากเรากู้ไม่ผ่านเพราะติดแบล็คลิสต์ เนื่องจากเคสแบบนี้
กู้ธนาคารไหนผลลัพธ์ก็เหมือนๆกัน
3.เปลี่ยนไปซื้อบ้านหลังเล็กลงราคาต่ำซึ่งจะทำให้วงเงินกู้ที่ต้องการน้อยลงโดยอัตโนมัติและมีโอกาสในการกู้(ผ่าน)
มากขึ้น
4.หาผู้กู้ร่วมเพื่อเพิ่มรายได้เป็นอีกวิธีที่ทำได้ไม่ยาก
แต่ผู้กู้ร่วมต้องมีคุณสมบัติครบถ้วนเหมือนผู้กู้หลักและ
เป็นการกู้ร่วมกันระหว่างสามีภรรยา พ่อแม่กับลูกหรือพี่น้องเป็นหลัก
5. ขายดาวน์ วิธีนี้คงเป็นทางออกสุดท้ายหลังจากแก้ปัญหามาทุกวิธีแล้ว
ขายดาวน์ถูกๆเพื่อให้มีคนซื้อ ยังดีกว่าไม่ได้อะไรเลย โอกาสในวันข้างหน้ายังมี เก็บเงิน
วางแผนดีๆสามารถซื้อได้ไม่ยากค่ะ
เลือกดอกเบี้ยธนาคารไหนดี ?
กู้ซื้อบ้านเลือกดอกเบี้ยธนาคารไหนดี?อาจต้องพิจารณาหลายๆด้าน
แต่เนื่องจากดอกเบี้ยเป็นค่าใช้จ่ายที่มากที่สุด ในการกู้ซื้อบ้าน ดังนั้น
อันดับแรกควรพิจารณาธนาคารที่ให้อัตราดอกเบี้ยต่ำที่สุดก่อน
ถัดจากนั้นอาจดูเงื่อนไขอื่นๆ เช่น สัดส่วนวงเงินให้กู้ บริการ
ความรวดเร็วหรือความยากง่ายในการอนุมัติ ช่องทางการชำระเงินฯลฯ
นอกจากนี้อาจพิจารณาเลือกกู้ให้ตรงกับแนวทางของแต่ละธนาคารเพื่อให้ได้เงื่อนไขดีๆ เช่น
บางธนาคารเน้น ปล่อยสินเชื่อให้ข้าราชการ/รัฐวิสาหกิจ ผู้ประกอบอาชีพพิเศษฯลฯ
ทั้งนี้อาจนำเงื่อนไขของแต่ละธนาคารสัก 3-4
แห่งมาเปรียบเทียบเพื่อเลือกเงื่อนไขที่เหมาะสมกับเรามากที่สุดค่ะ